14 ข้อสงสัย กับประกันสังคมผู้สูงอายุ

กองทุนประกันสังคม ตามมาตรา 40 (4) คือการประกันตนเองของผู้มีอาชีพอิสระทุกอาชีพ ได้ขยายโอกาสให้ผู้สูงอายุ ได้สมัครเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 เดิมเปิดให้ใช้สิทธิได้สำหรับวัยทำงานอายุ 15 – 60 ปี เราจึงได้รวบรวมคำถามที่เกี่ยวกับสิทธิประกันสังคมผู้สูงอายุที่หลายๆคนสงสัยมาฝากกันค่ะ

ปู่กะเด็กญ

14 ข้อสงสัย กับประกันสังคมผู้สูงอายุ

1.  ประกันสังคมผู้สูงอายุ คืออะไร ? ต้องอายุเท่าไหร่ถึงจะสมัครได้ ?

ประกันสังคมผู้สูงอายุ คือสิทธิของคนไทย ผู้มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ที่จะสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตน กองทุนประกันสังคม ตามมาตรา 40 (4) เพื่อใช้สิทธิของประกันสังคมได้

2.  มีอาชีพชาวนา , ชาวไร่ สมัครประกันสังคมผู้สูงอายุได้มั้ย ?

สมัครได้ค่ะ  เพราะประกันสังคมผู้สูงอายุ เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 (4) ซึ่งผู้มีอาชีพอิสระทุกอาชีพ  ผู้ที่ไม่มีนายจ้างประจำ สามารถสมัครได้ เช่น พ่อค้า แม่ค้า เกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ หาบเร่ แผงลอย วินมอเตอร์ไซด์รับจ้าง คนขับแท๊กซี่ ก็สามารถสมัครได้หมดค่ะ

3.  จะสมัครประกันสังคมผู้สูงอายุได้ที่ไหน ? เมื่อไหร่ ? และใช้เอกสารอะไรบ้าง ?

สามารถนำบัตรประชาชน หรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานรัฐที่มีรูปถ่าย ไปสมัครได้ที่สำนักงานประกันสังคมใกล้บ้าน โดยเปิดรับสมัครครั้งแรกเมื่อ 9 ธ.ค. 2556 – 8 ธ.ค. 2557  ในการรับสมัครครั้งที่ 2 ยังไม่มีกำหนดการณ์ออกมาค่ะ

4.  สมัครประกันสังคมผู้สูงอายุแล้ว จะได้สิทธิอะไรบ้าง ?

สิทธิประกันสังคมผู้สูงอายุ จะมี 5 ทางเลือก แต่ตอนนี้สามารถใช้ได้แค่ 2 ทางเลือก แบ่งตามช่วงอายุคือ

ทางเลือกที่ 2 สำหรับผู้อายุ 60 -65 ปี จะจ่ายเงิน 100 บาท รัฐสมทบให้ 50 บาท และได้สิทธิประโยชน์ด้านเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และชราภาพ

ทางเลือกที่ 3 สำหรับผู้อายุ 65 ปีขึ้นไป จะจ่ายเงิน 100 บาท รัฐสมทบให้ 100 บาท ไม่มีสิทธิประโยชน์ด้านอื่นๆ นอกจากเงินคืนบวกเงินสมทบจากรัฐเมื่อยกเลิก

สามารถส่งเงินสมทบได้สูงสุดเดือนละ 1,000 บาท แต่รัฐจะสมทบให้เท่าเดิม

5.  สิทธิประโยชน์ด้านเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และชราภาพ มีอะไรบ้าง ?

 1.  ชดเชยรายได้ หากเจ็บป่วยต้องนอนโรงพยาบาล วันละ 200 บาท

      เงื่อนไข  

  • เบิกได้ปีละไม่เกิน 30 วัน
  • ต้องเป็นการเข้ารับการรักษาโดยใช้สิทธิบัตรทองเท่านั้น
  • จ่ายเงินสมทบไปแล้ว 3 ใน 4 เดือน ก่อนเจ็บป่วยต้องนอนโรงพยาบาล

     2.  ชดเชยกรณีทุพพลภาพ 15 ปี

     เงื่อนไข

  • จ่ายเงินสบทบไปแล้ว 6 ใน 10 เดือน ก่อนทุพพลภาพ     รับ 500 บ. / เดือน
  • จ่ายเงินสบทบไปแล้ว 12 ใน 20 เดือน ก่อนทุพพลภาพ   รับ 650 บ. / เดือน
  • จ่ายเงินสบทบไปแล้ว 24 ใน 40 เดือน ก่อนทุพพลภาพ   รับ 800 บ. / เดือน
  • จ่ายเงินสบทบไปแล้ว 36 ใน 60 เดือน ก่อนทุพพลภาพ   รับ 1000 บ. / เดือน

     3.  กรณีเสียชีวิต รายละ 20,000 บาท

     เงื่อนไข 

  • เสียชีวิตกรณีทั่วไป ต้องจ่ายเงินสมทบไปแล้ว 6 เดือน ภายในเวลา 12 เดือน ก่อนเสียชีวิต
  • เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ต้องจ่ายเงินสมทบไปแล้ว 1 เดือน ภายในเวลา 6 เดือน ก่อนเสียชีวิต

     4.  เงินบำเหน็จชราภาพ

      จะได้รับเมื่อขอยกเลิกการเป็นผู้ประกันตน โดยจะได้ส่วนที่ตนเองจ่ายไป และส่วนที่รัฐสมทบให้ เช่น จ่ายไป 10 เดือน 1,000 บาท (10เดือน x 100บ.) ก็ได้เงินบำเหน็จ 2,000 บาท (1,000 ส่วนที่จ่ายไป + 1,000 รัฐสมทบ)

6.  มาสมัครประกันสังคมเอาตอนอายุ 60 แล้วเมื่อไหร่ถึงจะมีเงินสมทบเยอซะที ขอจ่ายย้อนหลังได้มั้ย ?

    ได้ค่ะ สามารถจ่ายเงินสมทบย้อนหลังได้ 32 เดือน(นับจากวันเริ่มโครงการ พ.ค.55) หรือ 3,200 บาท ซึ่งรัฐก็จะสมทบให้อีก 3,200 บาท 

7.  ถ้าเดือนไหนไม่ได้ส่งเงินสบทบ สิทธิประกันสังคมผู้สูงอายุจะถูกยกเลิกมั้ย ?

     ไม่ถูกยกเลิกค่ะ สามารถกับมาส่งเงินต่อเมื่อไหร่ก็ได้  

8.  จะต้องจ่ายเงินสมทบไปถึงเมื่อไหร่ จะยกเลิกได้มั้ย แล้วจะได้เงินคืนตอนไหน ?

สามารถยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งจะได้เงินที่จ่ายไปคืน + เงินที่รัฐสมทบ  โดยรัฐไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่าต้องส่งเงินแล้วกี่เดือนจึงจะขอยกเลิกแล้วได้เงินคืนทั้งจำนวน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตั้งเงื่อนไขดังกล่าว ผู้ที่ขอยกเลิกในช่วงเวลานี้รัฐจะยังไม่คืนเงินให้ ยังอยู่ในช่วงดำเนินการ

9.   เงินชดเชยรายได้ วันละ 200 บาท ต้องไปยื่นเรื่องขอเบิกภายในเวลากี่วัน ? และใช้เอกสารอะไรบ้าง ?

      สามารถเบิกได้ภายในระยะเวลา 2 ปี โดยใช้เอกสารดังนี้

  • ใบรับรองแพทย์ตัวจริง หรือ สำเนาเวชระเบียนการรักษา
  • บัตรประชาชนของผู้ประกันตน
  • บัตรประจำตัวผู้ประกันตน

10.  หากผู้สูงอายุเสียชีวิต จะต้องไปยื่นเรื่องขอเบิกเงินชดเชยกรณีเสียชีวิตภายในกี่วัน? และใช้เอกสารอะไรบ้าง ?

       สามารถเบิกได้ภายในระยะเวลา 2 ปี โดยใช้เอกสารดังนี้

  • สำเนาใบมรณะบัตร
  • สำเนาบัตรประชาชนของทายาดผู้ได้รับเงินชดเชย
  • สำเนาทะเบียนบ้านของทายาดผู้ได้รับเงินชดเชย
  • ใบทะเบียนสมรส หากผู้รับเงินเป็นสามี หรือภรรยา ของผู้ประกันตน
  • ใบสูติบัตร หากผู้รับเงินเป็นลูกของผู้ประกันตน

11. อายุมากกว่า 65 ปี ส่งเงินสมทบไปเรื่อยๆไม่ได้ถอนมาใช้ แล้วถ้าเกิดเสียชีวิตลูกหลานจะได้เงินมั้ย ?

      ทายาดตามกฎหมายจะเป็นผู้ได้รับเงินที่นำส่งประกันสังคม + ที่รัฐสมทบ

12.  หากตอนที่สมัครอายุ 63 ปี สมัครทางเลือกที่ 2 หากส่งเงินสมทบไปจนอายุเลย 65 ปีไปแล้ว จะยังคงสิทธิประกันสังคมตามทางเลือกที่ 2 อยู่หรือเปล่า ? เพราะทางเลือก 2 ระบุไว้ว่าสำหรับอายุ 60 – 65 ปี

  จะยังคงสิทธิตามทางเลือกที่ 2 ค่ะ ให้ยึดทางเลือกที่สมัครไว้เป็นหลัก

13.  สามารถนำส่งเงินสมทบได้ทางไหนบ้าง ? และส่งได้แค่ทีละเดือนเหรอ ?

สามารถจ่ายล่วงหน้าได้ 12 เดือน และจ่ายได้หลายทางดังนี้

  1. สำนักงานประกันสังคมทุกสาขา
  2. เคาน์เตอร์เซอร์วิส
  3. ธนาณัติ ทางที่ทำการไปรษณีย์
  4. เคาน์เตอร์ ธนาคารทุกแห่ง (เฉพาะทางเลือกที่ 1 และ 2)
  5. ห้างเทสโก้ โลตัส ทุกสาขา (เฉพาะทางเลือกที่ 1 และ 2)
  6. สมัครหักผ่านบัญชีธนาคาร

14 .  ประกันสังคมผู้สูงอายุ  เหมาะกับใครบ้าง ?

  • ผู้ที่ต้องการเก็บเงินออม ไว้ใช้ยามที่จำเป็นจริงๆ
  • ต้องการเก็บไว้ให้ลูกหลาน
  • ผู้สูงอายุที่อายุ 60 – 65 ปีและเจ็บป่วยรักษาโดยใช้สิทธิบัตรทอง หรือหวังความคุ้มครองกรณีทุพพลภาพ

หากสมัครประกันสังคมผู้สูงอายุเพื่อจะหวังผลประโยชน์ระยะสั้นจากเงินสมทบประกันสังคมควรจะคิดให้รอบคอบนะคะ เพราะหากลาออกจากผู้ประกันตนแล้วจะไม่สามารถสมัครใช้สิทธิได้อีกเลย