ไวรัสตับอักเสบ ซี รักษาได้จริง (ตอนที่ 1)

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นไวรัสตับอักเสบ ซี

          จากผลการตรวจร่างกายประจำปีพบว่า ผลเลือด(liver function test) มีค่าการทำงานของตับผิดปกติ โดยปกติแล้วผู้ที่เป็นไวรัสตับอักเสบซี จะไม่แสดงอาการใดๆ และส่วนใหญ่ก็จะพบจากการตรวจร่างกายประจำปี โดยร้อยละ 20-30 จะกลายเป็นตับแข็งหลังได้รับเชื้อ 20 ปี และอาจเป็นมะเร็งตับได้ในที่สุด  

          หลังจากที่ผลเลือดออกมาผิดปกติคุณหมอจึงให้ทำการตรวจเพิ่มเติมโดยการตรวจอัลตร้าซาวด์เพื่อประเมินลักษณะของตับ คัดกรองหามะเร็งตับระยะเริ่มแรก นิ่วในถุงน้ำดี และตรวจเลือดหาไวรัสตับอักเสบต่างๆ  จึงพบว่าคุณแม่นั้นเป็นตับอักเสบเรื้อรังและเป็นไวรัสตับอักเสบ ซีจริง โดยเป็นไวรัสสายพันธ์ที่ 3 และมีไวรัสอยู่ 2 ล้านตัว

 

ตอน1ไวรัสตับอักเสบซี

Credit photo : www.healthxchange.com.sg

 

                 เมื่อผลตรวจร่างกายออกมาแล้วคุณหมอได้สอบถามความเห็นจากทางเราว่า

           ” จะเจาะตับมั้ยคะ จะได้ประเมินระยะของโรคอย่างละเอียดเพื่อให้การรักษาได้ผลดีที่สุด “

           ” เจาะตับ !!!! ”     ตั้งแต่เกิดมาสองแม่ลูกไม่มีใครเคยเจาะตับและไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อน คำถามแรกที่ถามคุณหมอออกไปคือ..

           ” ต้องนอนค้างมั้ยคะ ”    เราสองคนกังวลมากเพราะมันดูเป็นเรื่องใหญ่หากต้องค้างที่โรงพยาบาล และเนื่องจากเราอยู่ต่างจังหวัดใช้เวลาเดินทางประมาณ 3.5 – 4 ชั่วโมงในการมาโรงพยาบาล คุณหมอคงจะเห็นความกังวลในใบหน้าของเราจึงบอกให้กลับไปปรึกษากับที่บ้านก่อน

            หลังจากได้กลับมาบ้าน และหาข้อมูลเรื่องการเจาะตับ การเจาะตับก็คือการใช้เข็มเล็กๆแทงผ่านผิวหนังบริเวณชายโครงขวา เพื่อนำชิ้นเนื้อขนาดเล็กๆออกมาตรวจมีความปลอดภัยสูง อาจเจ็บบ้างตอนฉีดยาชา และต้องนอนพักที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 6 ชั่วโมง หลังจากหาข้อมูลและได้ปรึกษากับครอบครัวแล้วทุกคนมีความเห็นตรงกันว่าไม่เจาะ(ได้มั้ยเพราะดูน่ากลัว)

         1 เดือนถัดมา เรามาพบคุณหมออีกครั้งและแสดงเจตจำนงค์ว่าจะขอไม่เจาะตับ คุณหมอจึงให้ตรวจเพิ่มเติมโดยการส่องกล้อง และตรวจไฟโบรสแกน  ไฟโบรสแกนก็คือ การตรวจหาภาวะพังผืดในเนื้อตับ และตรวจวัดปริมาณไขมันสะสมในตับหาภาวะความรุนแรงของตับแข็งด้วยคลื่นอัลตร้าซาวด์ ใช้เวลาประมาณ 15 นาทีเท่านั้น ค่อนข้างมีความแม่นยำและลดอัตราความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน เมื่อเทียบกับการเจาะตับ แต่คุณหมอได้แนะนำให้เจาะตับในตอนแรกเนื่องจากไฟโบรสแกนเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มากในตอนนั้น(ปี 2552) ความพร้อมของบุคลากรในการใช้เครื่องอาจยังไม่เพียงพอ

            ผลการตรวจไฟโบรสแกนออกมาว่าคุณแม่เป็นตับแข็งในระยะเริ่มต้น 10 % เราจึงตัดสินใจรับการรักษาไวรัสตับอักเสบ ซี เพื่อลดความเสี่ยงในการลุกลามของตับแข็ง และความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งตับ

 

        สรุปผลการตรวจร่างกายก่อนได้รับการรักษาไวรัสตับอักเสบ ซี

  1. เป็นตับอักเสบเรื้อรัง และตับแข็งประมาณ 10 %
  2. เป็นไวรัสตับอักเสบ ซี สายพันธุ์ที่ 3
  3. มีไวรัสจำนวน 2,000,000 ตัว (ต่ำกว่า 800,000 ตัว โอกาสตอบสนองต่อการรักษาจะมีสูง)
  4. เกล็ดเลือดแดง 83,000 (ค่าปกติ 140,000 – 450,000)

        ในบทความหน้าเราจะมาพูดถึงขั้นตอนการรักษา การปฏิบัติตัวของคุณแม่และครอบครัว ว่ามีการปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อให้การรักษาได้ผลออกมาดีที่สุด มีผลข้างเคียงอะไรบ้างจากการรักษารวมถึงแนวทางการป้องกันไวรัสตับอักเสบ ซี  รอติดตามในบทความถัดไปนะคะ  :-) 

 

 

More from my site

แชร์บทความนี้ให้กับเพื่อนๆของคุณด้วยนะคะ^^

Comments

comments