โรคกระดูกพรุน ภัยเงียบในตัวคุณ

โรคกระดูกพรุน (osteoporosis) เป็นโรคในผู้สูงอายุที่น่ากลัวอีกโรคหนึ่ง เพราะเมื่อเป็นแล้วจะต้องคอยระมัดระวังการทำกิจกรรมต่างๆไม่ให้ผาดโผนมากเกินไป จนเสี่ยงต่อการแตกหักของกระดูกที่เปราะบาง และอาจต้องงดทำกิจกรรมบางอย่างลงอย่างน่าเสียดาย

รู้จักโรคกระดูกพรุน

  • โรคกระดูกพรุน คือภาวะที่ความแข็งแรงของกระดูกลดลงมาก จนเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก เนื่องจากมวลกระดูก และคุณภาพของกระดูกลดลง
  • ในประเทศไทย พบผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน 1 ใน 3 คนของผู้หญิงที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 1 ใน 5 คนของผู้ชาย
  • เป็นโรคที่พบมากในผู้สูงอายุ และจัดว่าเป็นภัยเงียบโรคหนึ่ง เพราะมักจะไม่มีอาการ รู้ว่าเป็นก็ต่อเมื่อเกิดกระดูกหักขึ้นเสียแล้ว
  • ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าผู้ชาย เพราะมีมวลกระดูกน้อยกว่าผู้ชายตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว
  • ร่างกายของเราจะสร้างมวลกระดูกอย่างสูงสุดเต็มที่เมื่ออายุ 30 ปี และหลังจากนี้มวลกระดูกจะเริ่มถดถอยลง
  • ผู้หญิงมวลกระดูกจะถดถอย ปีละ 3 – 5% เมื่อเริ่มหมดประจำเดือน เพราะการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนในวัยหมดประจำเดือนจะทำให้กระดูกเสื่อมเร็วขึ้น
  • กระดูกส่วนที่พบว่ามีอาการบ่อย คือ ข้อมือ กระดูกสันหลัง กระดูกหัวสะโพก(ข้อสะโพก)

 

ภาพเปรียบเทียบกระดูกในภาวะปกติ กับผู้เป็นโรคกระดูกพรุน Credit photo : galleryhip.com

 ภาพเปรียบเทียบกระดูกในภาวะปกติ กับผู้เป็นโรคกระดูกพรุน Credit photo : galleryhip.com

อาการของโรคกระดูกพรุน

  • ไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น
  • ปวดกระดูก ปวดบริเวณหลัง ต้นคอ แบบเรื้อรัง
  • หากยกของหนัก หรือล้มก้นกระแทก จะปวดหลัง ปวดเมื่อยเมื่อเคลื่อนไหวมากเกินปกติ
  • หลังค่อม หลังโก่ง เพระกระดูกสันหลังเริ่มเสื่อม
  • กระดูกหักง่ายจากอันตรายที่ไม่รุนแรง
  • หลังอายุ 40 ปี ความสูงหายไปมากกว่า 2.5 ซ.ม
  • ในผู้สูงอายุลื่นล้มมากกว่า 1 ครั้งใน 1 ปี หรือกลัวว่าตัวเองจะลื่นล้ม เพราะรู้สึกว่ามีการทรงตัวที่ไม่ดี

ปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

  • ผู้ชายอายุมากกว่า 70 ปี และผู้หญิงที่อายุมากกว่า 65 ปี
  • หญิงวัยหมดประจำเดือน
  • ผู้หญิงที่ประจำเดือนเคยหายไปมากกว่า 12 เดือน ยกเว้น เมื่อตั้งครรภ์ หรืออยู่ในวัยหมดประจำเดือน
  • เคยผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง เพราะจะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน
  • ถูกวินิจฉัยว่ามีฮอร์โมนเพศต่ำ
  • ได้รับยาสเตียรอยด์ ขนาด 5 มก./วัน หรือเทียบเท่านานกว่า 3 เดือน
  • ใช้ยาบางประเภท เช่น ยากันชัก, ยาต้านการแข็งตัวของเลือด, ยากดภูมิคุ้มกัน, ยารักษาโรคมะเร็ง,
  • ผู้ที่เป็นโรคบางประเภท เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
  • คนผิวขาว จะเสี่ยงมากกว่าคนผิวดำ หรือผิวเหลือง
  • ตรวจพบกระดูกบาง หรือกระดูกหลังผิดรูปจากการถ่ายรังสี
  • เคยกระดูกหักจากอันตรายที่ไม่รุนแรง
  • มีประวัติพ่อ แม่ พี่ หรือน้อง เป็นโรคกระดูกพรุน หรือกระดูกหักจากอันตรายที่ไม่รุนแรง
อาการหลังค่อมจากกระดูกสันหลังเริ่มเสื่อม Credit photo :  inmo.ie

อาการหลังค่อมจากกระดูกสันหลังเริ่มเสื่อม
Credit photo : inmo.ie

ปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้

  • ดื่มสุรา กาแฟ และน้ำอัดลม ในปริมาณมาก เพราะช่วยขับแคลเซียมออกจากร่างกาย
  • รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมไม่เพียงพอ เลือกกิน
  • การสูบบุหรี่ หรืออยู่ในสภาพแวลล้อมที่มีควันบุหรี่มาก เพราะสารพิษลดการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก
  • มีน้ำหนักตัวน้อย ผอมบาง หรือ BMI ต่ำกว่า 19 กก./ตรม.
  • รับประทานยาชุด ยาลูกกลอน เพราะมีสารสเตียรอยด์ผสมอยู่
  • ไม่ค่อยออกกำลังกาย ไม่ค่อยเดิน
  • ทานอาหารรสเค็มจัด ทำให้ไตขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะมากขึ้น
  • ถูกแสงแดดน้อยกว่า 10 นาทีต่อวัน

โรคกระดูกพรุน osteogenesis

โรคกระดูกพรุน osteogenesis

 

ป้องกันและรักษาอย่างไร ให้ไกลโรคกระดูกพรุน

การรักษาจะ มี 2 แบบ คือ

แบบใช้ยา

  • เพื่อลดการทำลายเนื้อกระดูกให้น้อยลง
  • เพื่อเพิ่มการสร้างเนื้อกระดูก

เช่น การใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทน แต่การได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนเป็นเวลานาน 10-15 ปี จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม และนิ่วในถุงน้ำดีได้

แบบไม่ใช้ยา

การรับประทานอาหาร

  • ทานอาหารที่มีแคลเซียม และวิตามินดีสูง เช่น นมขาดมันเนย, ผลิตภัณฑ์จากนม, ปลาตัวเล็ก, ปลาซาร์ดีน, ปลาแซลมอน, เต้าหู้, ผักใบเขียวต่างๆ
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา และกาแฟ

การออกกำลังกาย

  • แบบลงน้ำหนัก เช่น เดิน วิ่งเหยาะๆ, รำไม้พลอง, ไท้เก๊ก
  • เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น ยางยืด, ตุ้มน้ำหนัก
  • ฝึกการทรงตัว เช่น ไท้เก๊ก

พฤติกรรม

  • งดการสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน หรือยานอนหลับ
  • ระวังไม่ให้เกิดการหกล้ม ด้วยการจัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้มีแสงสว่างเพียงพอ ไม่วางของระเกะระกะ มีราวจับตามบันได หรือในห้องน้ำ พื้นบ้านไม่ควรเป็นที่สูงๆต่ำๆ

 

โรคกระพรุนเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ เริ่มตั้งแต่ในวัยเด็กและวัยรุ่น ควรจะรับประทานแคลเซียมให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีมวลกระดูกที่แข็งแรง พร้อมรับมือกับความเสื่อมของกระดูกที่จะเกิดขึ้นไปตามวัยของเรานะคะ

 

 

 

 

แชร์บทความนี้ให้กับเพื่อนๆของคุณด้วยนะคะ^^

Comments

comments