ประกันอาวุโส ประกันชีวิตผู้สูงอายุ จ่ายทุกกรณีจริงหรือ?

ประกันอาวุโสประกันชีวิตผู้สูงอายุ

ประกันสำหรับผู้สูงวัย ประกันอาวุโส หรือประกันชีวิตผู้สูงอายุ ถูกออกแบบเพื่อรองรับ บุคคลที่มีอายุระหว่าง 40-75 ปี แล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละบริษัท เวลาพูดถึงประกันชีวิตคนส่วนใหญ่วิ่งหนี และมองว่าเป็นภาระ ถ้าเราใช้ใจที่เป็นกลางมอง ถามว่าวันนี้อยู่มาจนอายุ 40-50-60 ปี อยากมานั่งจ่ายเบี้ยประกันมั้ย? คงไม่มีใครอยาก เพียงแต่เราไม่ได้วางแผนการเงินมาตั้งแต่วัยเริ่มทำงาน พอเงยหน้าขึ้นมาอีกที เงินเก็บเป็นก้อนก็ไม่มี เงินจะใช้ก็หายาก โรครุมเร้าก็มากแล้วบางครั้งก็พึ่งพาลูกหลานยังไม่ได้

 

แต่ด้วยความรักและเป็นห่วงไม่อยากให้ลูกหลานลำบาก ถึงเวลาถ้าต้องจากไป งานศพสมัยนี้ก็ไม่ใช่หลักหมื่น ประกันแบบนี้ถึงได้ตอบโจทย์กับผู้สูงวัยจำนวนมาก การไม่ได้เตรียมการเพื่อการเกษียณคือ ปัญหาระดับชาติ จนเรามีรายการวงเวียนชีวิตให้ดูกัน แต่อันนั้นเป็นปัญหาที่เราคงมาถกกันต่อในโอกาสต่อไป วันนี้มาดูเรื่องเฉพาะหน้ากันก่อน (เดี๋ยวจะนอกเรื่องยาว เกิน 8 บรรทัดไปเยอะแล้ว 555)

 

ประกันผู้อาวุโส ถูกออกแบบมาเพื่อ?

เพื่อตอบโจทย์ให้กับคนแก่ (ขออนุญาตใช้คำศัพท์ทั่วไป) ที่ไม่ทันเตรียมตัวมา อยากมีเงินซักก้อนให้ลูกหลาน มาทำตอนอายุมาก พอมีโรคประจำตัว ทำประกันสุขภาพแบบปกติผ่านตัวแทนก้อไม่ได้ พอดูโฆษณาที่โหมกระหน่ำผ่านทีวี โทรเลย วันละ เท่านั้นเท่านี้บาท เลยตัดสินใจสมัครกันไป ด้วยความห่วงลูกหลานล้วนๆ

ถ้าสุดท้ายได้ตัดสินใจทำประกันแบบนี้ ข้าพเจ้ามีความเชื่ออย่างสุดใจว่า ลูกค้าจะได้รับเงินแน่นอนตามเงื่อนไข สิ่งที่ต้องมาดูกันคือ ลูกค้าเข้าใจเงื่อนไขหรือไม่ (แยกประเด็นกับการทำประกันปกติเอาไว้ก่อน)

 

เงื่อนไขหลักๆ โดยทั่วไป คือ

  1. ไม่ถามสุขภาพ รับทุกกรณี เบี้ยที่ต้องชำระจะคงที่ไปตลอด แต่ต้องชำระไปเรื่อยๆ ทุกปี จากอายุแรกที่ทำจนกระทั่งครบสัญญา 90 ปี ถ้าอยู่ครบสัญญาจนอายุ 90 ปี ได้รับเงินตามทุนประกันด้วย วงเงินคุ้มครองอยู่ระหว่าง 30,000-400,000 บาท ลูกค้าต้องมีอายุในช่วงที่กำหนด เช่น 50-70 ปี และเรื่องสำคัญเรื่องสุดท้ายที่ต้องทำความเข้าใจก่อนวางหูโทรศัพท์จากกันก้อคือ เงื่อนไขการจ่ายผลประโยชน์

 

  1. การจ่ายผลประโยชน์ ซึ่งส่วนใหญ่แบ่งเป็น 2

กรณี (1) เสียชีวิตก่อนครบสัญญาที่อายุ 90 ปี ถ้าเสียชีวิตภายในปีที่ 1-2 ของกรมธรรม์จะได้ 102% ของเบี้ยที่ชำระ แต่ตั้งแต่ปีกรมธรรม์ที่ 3 เป็นต้นไปจะได้รับ 100% ของทุนประกันภัย

กรณี (2) มีชีวิตอยู่จนครบสัญญาอายุ 90 ปี ได้รับทุนประกัน 100%

ตัวอย่าง เช่น ทำทุนประกัน 200,000 บาท ชำระเบี้ย 8,800 บาท ต่อปี เสียชีวิตใน ปีที่ 1 และ 2 จะได้รับเงินที่ส่งไปคืน พร้อมดอกเบี้ย 2% คือ 17,600 บาท บวก 2% แต่ถ้าหากชำระเบี้ยกรมธรรม์ปีที่ 3 เข้ามาแล้ว และเสียชีวิตหลังจากนั้นจะได้ทุนประกันเต็มจำนวน 200,000 บาท หรืออยู่จนถึง 90 ปี ไม่ต้องชำระเบี้ยแล้ว ได้เงินก้อนด้วยอีก 200,000 บาท (เรามาดูรายละเอียดเรื่องแผนกันในวันพรุ่งนี้ ขออนุญาตขยายความเป็น 2 ตอน เพื่อที่จะไม่ยาวจนเกินไป)

 

ข้อดี

  1. ช่วยเหลือคนแก่ส่วนใหญ่ของประเทศให้มีโอกาสได้มีเงินก้อนใหญ่ก้อนสุดท้ายในชีวิต
  2. เบี้ยประกันนั้นถูกทยอยเก็บ ไม่ได้เก็บทีเดียวเป็นเงินก้อน ทำให้เรามีโอกาสทยอยผ่อนไปเรื่อยๆ ซึ่งถูกใจการใช้เงินแบบไทยๆ
  3. แบบประกันถูกออกแบบมาเพื่อกรณีเสียชีวิต ไม่ได้เป็นแบบออมทรัพย์ หรือแบบมีค่ารักษาพยาบาลสุขภาพ

ข้อเสีย

ประกันแบบนี้ ตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม คือคนแก่ที่สุขภาพไม่ดีขนาดที่ ทำประกันชีวิตแบบปกติไม่ได้ วงเงินหรือทุนประกันไม่ได้มากมาย ส่วนใหญ่จะมีเพดานอยู่ที่ 200,000 บาท เพราะทางบริษัทก้อใช้สถิติในการคำนวณแบบเช่นกัน

ข้อสังเกตุ

  1. นี่คือเครื่องมือการเงินที่จะช่วยให้เรามีเงินเป็นก้อนได้ในตอนสุดท้ายของชีวิต
  2. ถ้าอยากได้แบบทำประกันแล้วจากไปแบบสบายใจได้ทันที อันนี้ต้องไปซื้อแบบธรรมดา ผ่านตัวแทนประกันชีวิต หรือเคาน์เตอร์ธนาคารที่มีให้บริการอยู่ ก็จะมีเงื่อนไขอีกแบบ เช่นมีการขอตรวจสุขภาพ
  3. ถ้าท่านปกปิด และบริษัทตรวจพบ บริษัทมีสิทธ์ปฏิเสธจ่ายทุนประกันภัยได้ ตามที่เห็นเป็นข่าวกันบ้าง
  4. แบบประกันนี้ไม่มีขายทั่วไป ขายผ่านโทรศัพท์เท่านั้น

การโฆษณาอาจจะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เพราะด้วยเวลาที่จำกัด สำหรับการสร้างความอยากแบบเร่งด่วนทำให้เราเห็นแต่คำว่า ไม่ถามเรื่องสุขภาพ จ่ายทุกกรณี แต่ไม่ทันฟังว่าเงื่อนไขและข้อกำหนดก่อนทำประกันคืออะไร (แม้กระทั่งทำแล้ว เรายังมีสิทธ์ยกเลิกได้ หลังได้รับกรมธรรม์) ดีขึ้นที่ปัจจุบันนี้ โฆษณาได้รับการแก้ไขให้แจ้งข้อมูลแบบละเอียดเพิ่มเติมมากขึ้น

 

ดังนั้น ลองสำรวจดูนะคะ ว่าเราเลือกแบบไหนเอาไว้ วางแผนชำระเบี้ยไว้เพียงพอรึเปล่า อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องพิจารณา เพราะเราคือผู้เสียประโยชน์ หากจ่ายเงินไปได้แค่ 2-3 ปี แล้วยกเลิกไป เราเลือกได้ค่ะ ถ้าเราพอใจจะเก็บเงินเองก็ได้ ทำประกันก็ได้ ทุกคนมีทางเลือกเสมอ แต่ขอให้เลือกทางที่เราเข้าใจ และพอใจ เพื่อจะได้ไม่ต้องทะเลาะกันในระยะยาวค่ะ

ประกันอาวุโสประกันชีวิตผู้สูงอายุ

**บทความนี้คือความเห็นส่วนตัว และไม่ได้มีส่วนพาดพิงถึงบริษัท หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งทั้งสิ้น** 

ขอขอบคุณบทความดีๆจาก คุณ Pattanan Ploypera

ขอบคุณรูปภาพจาก www.pixabay.com

More from my site

แชร์บทความนี้ให้กับเพื่อนๆของคุณด้วยนะคะ^^

Comments

comments