การดูแลผู้สูงอายุในสมัยโบราณ ผู้สูงอายุจะอยู่กับลูกหลานที่บ้าน เจ็บป่วยก็ช่วยกันดูแลกันจนตายไปข้างหนึ่ง แต่ยุคปัจจุบันต่างคนก็ต่างปากกัดตีนถีบหาเลี้ยงชีพ บางครั้งเรามักจะเห็นในรายการวงเวียนชีวิตที่ลูกปล่อยพ่อแม่ที่แก่เฒ่าไว้เพียงลำพัง ผู้ที่มีฐานะพอไหวก็จ้างคนมาดูแลที่บ้าน หรือส่งไปพักที่บ้านพักคนชรา อย่างเช่น บ้านบางแค
ข้อความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของบทความเรื่อง “ ประสบการณ์ดูแลผู้สูงอายุด้วยการแพทย์แผนไทย ” วารสารหมออนามัย ปีที่ 20 ฉบับที่ 4 ม.ค.-ก.พ. 2554 คอลัมน์ภูมิปัญญาไทย ผู้เขียน คือ ดร.ปารัณกุล ตั้งสุขฤทัย บทความนี้ถึงแม้จะผ่านมาหลายปีแล้ว แต่ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุที่ผู้เขียนได้เขียนไว้นั้น ยังคงสามารถนำมาใช้ได้เป็นอย่างดีในปัจจุบัน บทความนี้จะทำให้ผู้อ่านมีความเข้าใจในธรรมชาติของผู้สูงอายุมากขึ้น และยังเห็นถึงความสำคัญของผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุมากขึ้นอีกด้วย จึงขออนุญาตนำบทความนี้มาแบ่งปันให้ทุกคนได้อ่านกันค่ะ
บ้านบางแค ใครๆก็รู้จักชื่อนี้ดี แต่ไม่ใช่ว่าเราจะเอาผู้สูงอายุไปไว้ได้ทุกคน เพราะปัจจุบันปัญหาผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น และในอนาคตสิบปีข้างหน้าจะมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า ปัญหาที่ตามมาอีกมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสุขภาพ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ บางรายต้องให้อาหารทางสายยาง หายใจผ่านทางการใส่ท่อเจาะคอ แม้บางคนอยากจะดูแลเองแต่ไม่มีความรู้ด้านนี้ ก็ต้องหาสถานที่หรือคนที่มีความรู้ด้านนี้มาทำหน้าที่แทน
จากปัญหาต่างๆ ดังกล่าว ผู้เขียน(ดร.ปารัณกุล ตั้งสุขฤทัย) เคยทำงานในโรงพยาบาลทราบถึงปัญหานี้เป็นอย่างดี และได้รับการสอบถามจากญาติบ่อยๆว่า ช่วยดูแลพ่อแม่ที่บ้านให้หน่อยได้มั้ย? จนกระทั่งในปี 2548 ตั้งใจว่าเราต้องทำงานที่เราสามารถทำได้เพื่อเป็นอาชีพเสริม และเป็นการแบ่งเบาภาระผู้ที่เดือดร้อน จึงได้เปิดบ้านที่พักของตัวเองเป็นสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ความจำเสื่อม รวมทั้งผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ
หกปีผ่านไป…สิ่งที่เราได้รับมีหลากหลาย
ประการแรกที่สำคัญ คือ ความภาคภูมิใจ รู้สึกอบอุ่น มีคนชมว่าเป็นคนใจบุญ ใจดี และเป็นคนมีอารมณ์ขันมากขึ้น เพราะเราพบกับสภาพปัญหาทั้งทางร่างกายจิตใจตลอดเวลาที่เราอยู่กับเขา
ผู้สูงอายุความจำเสื่อมมักจะพูดถึงอดีต มีทั้งที่สมหวัง และผิดหวัง บ้างก็บ่นว่า..ไม่มีใครให้กินอะไรเลยทั้งวัน ทั้งที่เพิ่งยกจานข้าวไปเก็บ บ้างบ่นนอนไม่หลับ แต่เวลาเราเผลอก็กรนเสียงดังเชียว บ้างเดินไปหยิบของคนอื่นมาใส่กระเป๋าตนเอง บางคนก็ถามถึงลูกตลอดเวลา บางคนไม่ยอมอาบน้ำกลัวคนมาขโมยของตนเอง ผู้ดูแลก็ต้องใจเย็น
ผู้ดูแลต้องมีสมาธิจดจำสิ่งที่แต่ละคนเล่า หรือการกระทำซ้ำๆของแต่ละคนเพื่อจะได้ตอบคำถามได้อย่างถูกต้องตามที่ผู้สูงอายุสบายใจ เช่นถามว่าสตางค์ฉันหายไป เรามีข้อมูลแล้วว่าเขาอยู่กับลูกชายคนเดียว ก็ต้องตอบตามที่เรามีข้อมูล เช่น ตอบว่า..ลูกชายเก็บไว้ในตู้มีกุญแจล็อคอย่างดี ก็มีบางคนถูกใจ แต่บางคนก็ไม่พอใจในคำตอบ เราต้องมีไหวพริบที่จะปรับคำให้เขาสบายใจให้ได้ บางรายไม่ยอมนอน 3 วันติดต่อกัน ต้องให้ญาติพาไปพบจิตแพทย์
ประการที่สอง คือ ได้ฝึกลูกหลานให้รัก และเคารพผู้ใหญ่ที่อยู่ที่บ้าน ให้ถือว่าเป็นญาติผู้ใหญ่ ไม่แสดงท่าทีเบื่อหรือรำคาญ และตัวเองก็ได้ฝึกการพยาบาลทางด้านจิตวิทยา ได้แก้ปัญหาให้กับญาติที่ไม่มีเวลา ได้ดูแลให้ผู้สูงอายุได้รับความสุขสบาย ปลอดภัย มีความอบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน
ประการสุดท้าย ทำให้เรา และญาติมีอาชีพไม่ตกงานมีเงินทองพอเลี้ยงครอบครัว ถึงแม้ว่าจะเป็นงานที่ไม่มีค่าตอบแทนมากนัก แต่ก็สามารถทำให้เรามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สิ่งที่เราได้รับมาแม้จะไม่ร่ำรวยแต่ได้ความอิ่มอกอิ่มใจ คนใกล้ชิดสังเกตุได้ว่าเด็กๆลูกหลานเป็นคนจิตใจดี ใจเย็น เสียสละ ในช่วงเทศกาลหรือวันหยุดติดต่อกันหลายวัน เราไม่ค่อยได้ออกไปเที่ยวนอกบ้าน เพราะเราต้องดูแลผู้ป่วยที่ญาตินำมาฝากไว้ที่บ้าน เนื่องจากบางท่านต้องเดินทางไปต่างจังหวัด
หลายท่านอาจสงสัยว่าแล้วคนดูแลต้องมีความรู้อะไรบ้าง ในความเป็นจริงแล้วผู้ป่วยที่แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ ทางโรงพยาบาลจะแนะนำให้ญาติหรือคนดูแลมารับการอบรม หรือมาฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับการดูแลทั่วไป เช่น การเช็ดตัว การให้อาหารทางสายยาง สูตรการทำอาหารเหลว การป้อนยา การทำกายภาพบำบัดเบื้องต้น จนกระทั่งพร้อมก็จะให้กลับบ้าน ไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์ พยาบาล แต่ถ้ามีอาการผิดปกติ พยาบาลจะให้คำแนะนำการสังเกตอาการ และการนำส่งโรงพยาบาล
ประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยเจาะคอ ให้อาหารทางสายยาง ต้องเน้นความสะอาดทั้งการดูแลทำแผลเจาะคอทุกวัน เปลี่ยนสายดูดเสมหะทุกวัน น้ำสำหรับล้างสายดูดเสมหะใช้น้ำต้มสุก พลิกตัวทุกสองชั่วโมง อาบน้ำสระผม สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ถ้าอากาศหนาวอาจจะไม่สระผม ถ้าอากาศร้อนอบอ้าว สามารถอาบน้ำได้วันเว้นวัน
อาหารเหลวที่ให้เป็นอาหารทั่วไป และอาหารเฉพาะโรค เช่น โรคความดันโลหิตสูงงดเค็ม มัน โรคเบาหวานลดแป้ง และน้ำตาล เพิ่มผักใบเขียวและสีสด เช่น ผักโขม ฟักทอง แครอท ผลไม้ เช่น ส้ม มะละกอ ส่วนนมที่ให้ในผู้สูงอายุจะต้มนมถั่วเหลือง ลดน้ำตาลหรือความหวานลง หรืออาจเป็นนม หรืออาหารเสริมที่แพทย์สั่งจ่ายให้เฉพาะราย และหนึ่งสัปดาห์จะให้ชารางจืดช่วยลดสารพิษที่อาจตกค้างในพืชผักผลไม้ 2 ครั้ง
ผู้ป่วยที่เป็นโรคทางสมองอัมพาต ต้องทำกายภาพอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง และฝึกให้ลงนั่งบนเตียงหรือรถเข็น เพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพปอดแข็งแรง ฝึกการทรงตัว ช่วยระบบการย่อยอาหารเมื่อนั่งรับประทานอาหารจะไม่สำลัก และการลุกนั่งช่วยทำให้เกิดการเคลื่อนไหว ระบบขับถ่ายดีขึ้น
สำหรับสถานที่เราดูแลจัดบรรยากาศเหมือนที่บ้าน คนที่พูดรู้เรื่อง ผู้ดูแลจะถามว่าวันนี้อยากทานอะไรกันบ้าง แล้วเขาจะตกลงกันเองวันนี้ว่าจะรับประทานอะไร ถ้าคนนี้สั่งแล้ววันต่อไปจะต้องให้คนอื่นคิดบ้าง หมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
นอกจากนี้เรายังนำภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยมาช่วยดูแลสุขภาพผสมผสานกับการดูแลทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ตั้งแต่เรื่องอาหาร เน้นรับประทานปลา ผัก ทำอาหารสุกใหม่ทุกวัน ส่วนผลไม้ให้ตามฤดูกาล มีบางวันจะให้รับประทานขนมหวานแต่ลดความหวานลง และยังมีหมอนวดแผนไทยมาช่วยนวดผู้ป่วยที่นอนอยู่กับเตียงนานๆ หรือคนที่พอรู้เรื่องแต่กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ปวดเมื่อย หมอนวดจะนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพให้ ซึ่งญาติต้องจ่ายเงินค่านวดสัปดาห์ละประมาณ 300 บาท และถ้ามีอาการปวดอักเสบตามข้อ จะใช้วิธีการประคบด้วยสมุนไพร
เคยมีผู้ป่วยโรคทางสมองแขนขาอ่อนแรง เมื่อได้รับการนวด และการฝึกทำกายภาพ ประมาณ 2-3 เดือน จะหายเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แล้วแต่อาการมากน้อยต่างกัน บางรายสามารถกลับบ้าน และสามารถไปทำงานขับรถแท็กซี่รับจ้างหารายได้เลี้ยงตนเองได้และกลับมาเยี่ยม ทำให้เรารู้สึกภูมิใจที่เขาสามารถกลับไปอยู่กับครอบครัว ทำงานได้ไม่เป็นภาระ ซึ่งหลายท่านก็แนะนำบอกต่อ พวกเราก็ขอบคุณที่ทำให้ผู้ที่มาอยู่กับเรามีความสุข และประทับใจ
การดูแลด้านจิตใจ เราจะเปิดเทปพระบรรยายธรรมให้ฟัง ถ้าเป็นคนจีนญาติจะนำเสียงสวดที่ผู้สูงอายุชอบมาให้เปิด หรือบางวันจะเปิดเพลงเบาๆ หรือนิมนต์พระมาให้พรที่บ้าน สับเปลี่ยนกันไปตามวาระ ในช่วงเทศกาลปีใหม่เราก็จัดเลี้ยงปีใหม่ซื้อของมาให้จับฉลากกัน คนที่รู้เรื่องก็สนุกสนานคลายความกังวลไม่ค่อยบ่นถึงลูกหลาน
ถ้าถามว่าการเปิดบ้านดูแลคนชราในบ้านมีปัญหาหรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่ว่าจะทำงานอะไรจะมีปัญหาอุปสรรคอยู่แล้ว แต่ที่สำคัญคือ เราแก้ปัญหาได้หรือไม่ แก้อย่างไร
จากประสบการณ์ปัญหาที่พบบ่อยคือ ญาติไม่มีเงินที่จะจ่ายให้เป็นค่าดูแล การแก้ปัญหาของเราคือ คุยกับญาติและสอนวิธีการดูแลที่บ้านให้ญาติ หากสงสัยสามารถโทรศัพท์มาถามเราได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ปัญหาที่รองลงมาคือ แม่บ้านที่ช่วยทำความสะอาด ซักผ้า ล้างจาน ถูบ้าน และต้องเป็นคนใจเย็นไม่เบื่องานบริการ เพราะผู้สูงอายุเขาอาจเรียกถามบ่อย ขอให้ช่วยทำอะไรให้บ้าง บางครั้งเหมือนจุกจิก ทำให้แม่บ้านส่วนใหญ่เบื่อ ซึ่งเขาจะชอบทำงานโรงงานมากกว่าอยู่กับผู้ป่วย ปัญหาอื่นๆ เป็นปัญหาของการจัดการ ก็ต้องแก้ตามปัญหาที่เกิดขึ้น
ในอนาคตเราคงต้องเตรียมแผนรองรับปัญหาผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรังที่ขาดคนดูแล การดูแลแบบผสมผสานการแพทย์แผนไทยกับแผนปัจจุบัน เป็นวิธีดูแลที่ดีเหมาะกับความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุในประเทศ และควรเปิดหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุแบบผสมผสานดังกล่าวขึ้นเพื่อรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งคาดว่าปัญหาดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวแน่นอน
ใครที่มองหางานทำที่ได้ทั้งบุญกุศล และมีเงินเลี้ยงครอบครัวก็สามารถทำได้ ขอให้มีใจรัก ไม่รังเกียจผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ก็ลองทำดูได้นะ แม้จะเหนื่อยแต่มีความสุขค่ะ
บทความนี้ได้รับอนุญาตจาก “วารสารหมออนามัย” ให้นำมาเผยแพร่ลงในเว็บไซด์ eldercareinthai.com แล้ว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.mohanamai.com
วารสารหมออนามัย ปีที่ 20 ฉบับที่ 4 ม.ค.-ก.พ. 2554
คอลัมน์ภูมิปัญญาไทย
ผู้เขียนบทความ : ดร.ปารัณกุล ตั้งสุขฤทัย