1. โครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติ เพื่อสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 จัดตั้งขึ้นตามกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวความว่า “เวลาไม่มีฟันกินอะไรไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง” ทรงห่วงใยปัญหาสุขภาพช่องปากของประชาชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส ที่สูญเสียฟันทั้งปาก โดย ณ ปัจจุบันโครงการได้ฝังรากฟันเทียมให้แก่ประชาชนฟรีแล้วกว่า 10,000 ราย
2. รากฟันเทียมต้นแบบชิ้นแรกมีนามพระราชทานว่า “ ฟันยิ้ม ” และรากฟันเทียมต้นแบบชิ้นล่าสุดมีนามพระราชทานว่า “ ข้าวอร่อย “
3. ประเทศไทยสามารถผลิต และส่งออกรากฟันเทียมไปขายยังต่างประเทศได้
4. รากฟันเทียม คือ วัสดุที่ทำจากโลหะไททาเนียม มี 3 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนตัวฟัน แกนฟันที่ต่อระหว่างตัวกับรากฟัน และรากฟันจะมีรูปทรงคล้ายสกรู โดยจะฝังลงไปในกระดูกขากรรไกรเพื่อใช้แทนฟันจริง
5. การใส่มีทั้งหมด 4 แบบ คือ รากฟันเทียมเพื่อทดแทนฟัน 1 ซี่ , ทดแทนฟันหลายซี่ , ทดแทนฟันทั้งขากรรไกร และทดแทนฟันทั้งปาก
6. มีลักษณะเหมือนฟันแท้มาก ยึดติดกับขากรรไกรโดยตรง และไม่ต้องถอดออกมาทำความสะอาด
7. แตกต่างจากฟันปลอมแบบยึดติดตรงที่ไม่ต้องกรอฟันข้างเคียงเมื่อจะใส่ฟันปลอม สามารถใส่รากฟันเทียมลงไปได้เลย
8. ระยะเวลาการทำมี 2 ช่วง คือ ช่วงแรกจะฝังรากเทียมลงในกระดูกขากรรไกร รอแผลหายและสร้างกระดูกมาล้อมรากเทียมไว้ใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน จึงต่อแกนฟัน และครอบฟันเข้ากับรากเทียมจึงเสร็จสมบูรณ์
9. ถือเป็นการผ่าตัดย่อมๆอย่างหนึ่งเพราะต้องผ่าเหงือกเพื่อที่จะใส่รากฟันเทียม ซึ่งมีความเจ็บใกล้เคียงกับการผ่าฟันคุด
10. ถ้าต้องการใส่ฟันปลอมหลายซี่ไม่จำเป็นต้องใส่รากฟันเทียมทุกซี่ สามารถใส่เป็นเสาเพื่อค้ำฟันปลอมเอาไว้ 2 เสาได้
11. การสูญเสียฟันเป็นเวลานานอาจทำให้กระดูกโดยรอบนั้นบางลงถ้าบางมากจำต้องปลูกกระดูก หรือเสริมกระดูกโดยเอามาจากส่วนอื่นก่อนที่จะใส่รากฟันเทียม
12. บริเวณที่ใส่รากฟันเทียมอาจรับรู้ความรู้สึกร้อนเย็นได้น้อยกว่าความเป็นจริง
13. สามารถอักเสบและติดเชื้อได้ง่ายกว่าฟันแท้ จึงควรแปรงฟันให้สะอาดสม่ำเสมอ และตรวจฟันกับทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
14. มีอายุการใช้งานอยู่ที่ 15 – 20 ปี หรืออาจนานกว่านี้แล้วแต่คุณภาพและการดุแลรักษา
15. ค่าใช้จ่ายในการใส่รากฟันเทียมอยู่ที่ 50,000-100,000 บาทโดยประมาณ