15 ข้อควรรู้เกี่ยวกับอาหารของผู้สูงอายุ

elder food

 

อาหารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของทุกคน  การรับประทานอาหารในผู้สูงอายุนั้น มีหลายสิ่งที่เราต้องคำนึงถึง และระมัดระวัง มากกว่าในวัยอื่น ๆ เนื่องจากร่างกายของผู้สูงอายุแตกต่างจากเด็ก และคนหนุ่มสาว เพราะภาวะร่างกายเสื่อมถอยลง มีโรคแทรกซ้อนได้ง่ายขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุ ควรจะมีความรู้เกี่ยวกับอาหารของผู้สูงอายุ

 

 

15  ข้อควรรู้เกี่ยวกับอาหารของผู้สูงอายุ

1.   การรับประทานอาหารของผู้สูงอายุควรแบ่งมื้อย่อยๆประมาณ 5 มื้อ เพื่อให้ระบบการย่อยอาหารได้ทำงานเบาลง เช่น มื้อเช้ากลางวัน เย็น และให้มีอาหารว่างช่วงสาย และบ่าย

2.   ไม่ควรให้ผู้สูงอายุบริโภคอาหารที่มีแป้ง ไขมัน คาร์โบไฮเดรต และพลังงานมาก เกินไป เพราะผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องนำสาร     อาหารเหล่านี้ไปใช้เป็นพลังงานเหมือนแต่ก่อน  และที่สำคัญเมื่อร่างกายเข้าสู่วัยสูงอายุ ระบบเผาผลาญพลังงานจะมีประสิทธิภาพ ลดลง ดังนั้น ถ้ารับประทานอาหารเหล่านี้มากเกินไป อาจส่งผลให้ผู้สูงอายุมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น อ้วนและมีไขมันสะสมได้

3.   ถึงแม้ว่าอาหารประเภทไขมันจะเป็นอาหารที่ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงแต่ก็มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะนอกจากจะให้พลังงานแล้ว ไขมันยังช่วยในการดูดซึมวิตามินบางอย่างให้ซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีอีกด้วย ดังนั้น ควรจัดให้ผู้สูงอายุได้ทานไขมันบ้างในบางมื้อของวัน

4.   อาหารที่จำเป็นต่อการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และสร้างเนื้อเยื่อ อย่างเช่น เนื้อสัตว์ ถั่ว งา และโปรตีนต่าง ๆ เป็นอาหารที่ควรทานในทุก ๆ มื้อ โดยสลับสับเปลี่ยนเมนูไม่ให้ผู้สูงอายุรู้สึกเบื่อ แต่ควรปรุงให้รับประทานได้ง่าย

5.   เนื้อสัตว์ ควรเป็นเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ และย่อยง่าย อย่างเช่น เนื้อปลา เป็นต้น

6.   ผู้สูงอายุควรดื่มนมทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 แก้ว โดยในผู้สูงอายุบางคนที่มีน้ำหนักเกิน ควรเลือกดื่มนมพร่องมันเนยแทน

7.   เน้นให้ผู้สูงอายุทานผักที่หลากหลาย เพราะในผักมีวิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกาย พร้อมทั้งยังเพิ่มใยอาหารที่ส่งผลดีต่อระบบขับถ่าย

8.   ควรให้ผู้สูงอายุได้ทานผลไม้ในทุก ๆ มื้อ เพื่อช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานง่ายขึ้น เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักท้องผูก เพราะไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย โดยผลไม้ควรเป็นผลไม้ที่ทานได้ง่าย เช่น กล้วยสุก หรือมะละกอ

9.   หลีกเลี่ยงให้ผู้สูงอายุทานอาหารหวานจัด เค็มจัด และอาหารที่มีรสจัดทุกชนิด

10.   การปรุงอาหารสำหรับผู้สูงอายุนั้น ควรปรุงอาหารให้เปื่อยนุ่ม และเคี้ยวง่าย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีปัญหาเกี่ยวกับฟัน ต้องให้ความสำคัญเรื่องการปรุงอาหารให้มากเป็นพิเศษ

11.   ควรตกแต่งอาหารให้น่ารับประทาน เพื่อกระตุ้นให้ผู้สูงอายุทานอาหารได้มากขึ้น และไม่เบื่อง่าย

12.  ควรให้ผู้สูงอายุดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 5 – 8 แก้ว เพื่อให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายทำงานอย่างเป็นปกติ

13.   การจัดอาหารสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือเป็นโรคเบาหวาน ควรงดอาหารที่มีความหวานทุกชนิด รวมไปถึง   อาหารที่มีไขมันสูง และโปรตีนสูงด้วย

14.   การให้ผู้สูงอายุได้ดื่มเครื่องดื่มร้อน ๆ อย่างนมอุ่น ๆ โอวัลตินหรือไมโล จะช่วยให้ผู้อายุนอนหลับสบายมากยิ่งขึ้น

15.   สำหรับผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ลูกหลาน ผู้ที่ดูแลควรสอบถามแพทย์เกี่ยวกับประเภทของอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุและอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง อาจส่งผลเสียต่อร่างกายของผู้สูงอายุได้

 

อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ดูแลควรให้ความสำคัญคือ การจัดอาหารที่ผู้สูงอายุชื่นชอบได้ทานบ้างในบางมื้อ โดยควบคุมอาหารให้อยู่ในปริมาณที่กำหนด และเน้นให้ทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ หากสามารถทำได้อย่างนี้ ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับประทานอาหารที่ดี และมีประโยชน์ แต่ยังช่วยให้ผู้สูงอายุมีร่างกายที่แข็งแรง และห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บอีกด้วย…

 

 

แชร์บทความนี้ให้กับเพื่อนๆของคุณด้วยนะคะ^^

Comments

comments