ภายในช่องปากของคนเรานั้น นอกจากจะ มีฟันและอวัยวะรอบๆตัวฟันที่เราสามารถมองเห็นได้แล้ว ยังมีจุลินทรีย์ที่มองไม่เห็นอยู่มากมายที่ติดอยู่กับสารที่เป็นเมือกเหนียวที่ผิวฟัน รวมเรียกว่า คราบจุลินทรีย์ (Dental Plaque) ซึ่งเป็นกลุ่มเชื้อโรคที่เจริญเติบโตเบียดเสียดกันอยู่ จนมองเห็นเป็นกลุ่มก้อนสีขาวเหลือง ที่เราเรียกว่า “ขี้ฟัน” และหากนำขี้ฟันไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ก็จะเห็นเชื้อโรคมากมายเคลื่อนไหวไปมาซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคในช่องปากเช่น โรคฟันผุ เหงือกอักเสบ และโรคปริทันต์อักเสบ
โรคเหงือกอักเสบ คือ สภาวะการตอบสนองของเนื้อเยื่อและเหงือก ต่อเชื้อโรคต่างๆที่สะสมรอบๆตัวฟัน โดยเกือบทุกคนจะมีเหงือกอักเสบมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป
ลักษณะของเหงือกอักเสบ จะมองเห็นเหงือกบวม แดง เป็นมัน ดูฉุๆ หากถูกขนแปรงตอนแปรงฟัน หรือลองใช้ไม้จิ้มฟันสอดเข้าไปในร่องเหงือก อาจจะมีเลือดซึมออกมาได้ เมื่อมีเหงือกอักเสบก็มักจะถูกละเลยในการทำความสะอาด ซึ่งถ้านานๆเข้าก็จะเกิดหินปูน หรือหินน้ำลายร่วมด้วย โดยจะมองเห็นเป็นแถบสีขาวออกเหลือง แข็ง แปรงไม่ออก ทำให้เป็นที่สะสมของเชื้อโรค มักจะเริ่มเป็นบริเวณซอกฟันก่อน
โรคปริทันต์อักเสบ (รำมะนาด)คือ การที่เหงือกอักเสบลงไปสู่รากฟัน และปล่อยสารพิษทำลายอวัยวะปริทันต์ (กระดูกเบ้าฟัน , เอ็นยึดปริทันต์) ทำให้เนื้อเยื่อที่อยู่รอบๆรากฟัน เกิดการอักเสบ มีหนอง มีฝี เป็นระยะๆ สลับกับระยะฟักตัว ซึ่งแต่ละคนก็จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคแตกต่างกันไป
โรคปริทันต์แบ่งได้เป็น 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 เหงือกอักเสบ มีลักษณะบวม แดง เป็นมัน ดูฉุๆ มักพบมีเลือดออกบริเวณคอฟัน
ระยะที่ 2 ระยะเริ่มต้น เพราะการลุกลามของเหงือกอักเสบจากปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ ทำลายกระดูกรองรับรากฟันไม่เกิน 1 ใน 3 ซี่ฟัน
ระยะที่ 3 ระยะกลาง ทำลายกระดูกรองรับรากฟัน จาก 2 ใน 3 ของซี่ฟันแต่ยังไม่ถึงปลายราก
ระยะที่ 4 ระยะปลาย ทำลายกระดูกรองรับรากฟัน เกือบหมดทั้งซี่ฟัน ทำให้เกิดฝีปลายราก มีอาการปวดร่วมด้วย อาจต้องถอนฟัน หรือมีการรักษาที่ยุ่งยากขึ้น
ความเสี่ยงที่ทำให้โรคปริทันต์ลุกลามรวดเร็ว
- ทานอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลมาก จุลินทรีย์ชอบสารอาหารเหล่านี้
- ช่องปากไม่สะอาด
- สูบบุหรี่
- ร่างกายขาดวิตามินซี บี และดีที่มีผลต่อความต้านทานของเหงือก
- คนที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง เช่น หญิงมีครรภ์ สตรีวัยหมดประจำเดือน เด็กเข้าสู่วัยหนุ่มสาว
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
- ผู้ที่เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง / มะเร็งเม็ดโลหิตขาว
อาการของโรคปริทันต์
- มีกลิ่นปาก
- อาจมีเลือด หรือหนองออกมาจากร่องเหงือก
- มีตุ่มหนอง / ฝี
- มีการยื่นยาวขึ้นของฟัน
- เมื่อกระแทก เคี้ยวจะเจ็บ
- มองเห็นหินปูนเป็นสีน้ำตาลดำเกาะบริเวณคอฟัน และรากฟันได้
การรักษาโรคเหงือกอักเสบ และโรคปริทันต์อักเสบ จะเป็นการขจัดคราบหินน้ำลาย และจุลินทรีย์ที่เกาะอยู่บริเวณต่างๆ
ขูดหินปูน หรือขูดหินน้ำลาย เพื่อขจัดคราบที่เกาะอยู่บนตัวฟัน และขอบเหงือกออกไป
เกลารากฟัน เพื่อขจัดคราบที่เกาะลึกลงไปในผิวรากฟัน
ผ่าตัด เพื่อขจัดคราบที่เกลารากฟันรักษาไม่ได้ผล จึงต้องมีการผ่าตัดร่วมด้วย
ถอนฟัน เมื่อมีการลุกลามของเนื้อเยื่อปริทันต์ไปมาก จนไม่สามารถรักษาฟันซี่นั้นไว้ได้
การป้องกันไม่ให้เกิดโรคเหงือกอักเสบ และโรคปริทันต์
- ดูแลรักษาความสะอาดช่องปากให้สะอาดอย่างทั่วถึง และสม่ำเสมอ
- ดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง เพื่อไม่ให้เป็นโรคที่จะมีผลกระทบต่ออวัยวะ
- ลดอาหารจำพวกแป้ง และน้ำตาล
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่มีผลเสียกับอวัยวะปริทันต์ เช่น การสูบบุหรี่
การดูแลสุขภาพในช่องปากถือเป็นเรื่องที่สำคัญของคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัยสูงอายุ เพราะผู้สูงอายุการทำงานของระบบต่างๆในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงในทางเสื่อมถอยลงจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมและพันธุกรรมช่องปาก ฉะนั้นการรู้ทัน และดูแลป้องกันก่อนที่จะเกิดโรคจึงถือเป็นสิ่งที่ดีสุดที่เราควรจะทำถ้าไม่อยากจะเป็นโรคในช่องปาก..