
Credit Photo : bfm.my
โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) ถือว่าเป็นโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อยมากที่สุดในผู้สูงอายุโรคหนึ่ง นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตแล้ว โรคความดันโลหิตสูงยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของผู้สูงอายุอีกด้วย ทำให้เราที่เป็นลูกหลานอาจต้องหันมาทำความรู้จักกับโรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุกันให้มากขึ้น เพื่อการดูแลผู้สูงอายุที่เรารักนั่นเอง
รู้จักโรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ
โรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ มีความเสี่ยงมากกว่าความดันโลหิตสูงที่เกิดขึ้นกับคนในวัยอื่น ๆ เนื่องจากสภาวะร่างกายของผู้สูงอายุที่ทรุดโทรมลง มีการฟื้นตัวที่ช้าและไม่แข็งแรงเช่นวัยหนุ่มสาว จึงส่งผลให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงมากต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ มาตามเมื่อเกิดโรคความดันโลหิตสูง ไม่ว่าจะเป็น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวาย ตาบอด อัมพฤกหรืออัมพาต
สาเหตุสำคัญของการเกิดโรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ มีหลายปัจจัยเช่นเดียวกับคนวัยอื่น ๆ ทั้งเรื่องของกรรมพันธุ์ เพศ อายุ ภาวะน้ำหนักเกิน ภาวะเครียด ขาดการออกกำลังกาย รวมไปถึงรูปแบบในการใช้ชีวิตอย่างไม่ถูกต้องที่สะสมมายาวนาน ทั้งการสูบบุหรี่ การดื่มสุราเป็นประจำ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุแทบทั้งสิ้น
ลักษณะอาการ ภาวะแทรกซ้อนและความเสี่ยงต่าง ๆ
โรคความดันโลหิตสูงถูกขนานนามให้เป็นโรคเพชฌฆาตเงียบ ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ที่มีภาวะของโรคนี้ไม่ว่าวัยใด แต่เมื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีร่างกายไม่แข็งแรงและมีภูมิต้านทานที่ต่ำลง ลักษณะอาการ ภาวะแทรกซ้อนและความเสี่ยงต่าง ๆ จึงมีเพิ่มมากขึ้น และหากไม่ระมัดระวังอาจส่งผลให้ผู้สูงอายุเกิดความเสี่ยงสูงมากต่อการเสียชีวิต
- เสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดตีบอุดตันและหลอดเลือดในสมองแตก โดยลักษณะอาการที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ ปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรงและพูดไม่ชัด
- เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ใจสั่น เหนื่อยหอบ รวมไปถึงภาวะหัวใจโตหลอดเลือดหัวใจหนาตัวและแข็งตัวขึ้น เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดและหัวใจล้มเหลว เสี่ยงอย่างยิ่งต่อการเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน
- อาจส่งผลให้เลือดออกที่จอประสาทตา เกิดภาวะหลอดเลือดเส้นเล็ก ๆ ที่จอประสาทตาเกิดการอุดตัน รวมไปถึงจอประสาทตาหลุดลอกได้
- เสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกที่ไต เลือดไปเลี่ยงไตไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้ไตเสื่อมสมรรถภาพและไตวายเฉียบพลัน
การปฏิบัติตัวสำหรับผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูง
1. การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและงดเครื่องดื่มที่หวานจัด
2. หลีกเลี่ยงภาวะความเครียด อารมณ์ขุ่นมัวไม่สดใส
3. งดการสูบบุหรี่ เพราะสารต่าง ๆ ในบุหรี่จะยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้โรคความดันโลหิตสูงมีอาการกำเริบได้ง่ายมากขึ้น
4. ดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
5. หลีกเลี่ยงการรับประทานเกลือมากกว่า 1 ช้อนชาต่อวัน รวมทั้งอาหารเค็มจัด อาหารตากแห้ง อาหารปรุงรสสำเร็จรูป ผักและผลไม้ดอง อาหารกระป๋องและขนมขบเคี้ยวที่มีเกลือเป็นส่วนผสมจำนวนมาก
6. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างร้อยสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที
7. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ให้น้ำหนักตัวมากเกินไป
8. หากเป็นผู้สูงอายุที่ต้องรับประทายาเป็นประจำ ควรทานยาให้ตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอ
9. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
10. เข้ารับการตรวจตามนัดอย่างตรงเวลาและเข้าวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ
การทำความรู้จัก เรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะอาการของโรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุนั้น จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อน ภาวะความเสี่ยงและอันตรายต่าง ๆ ที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตของผู้สูงอายุได้ ซึ่งหากผู้สูงอายุเองและลูกหลานหันมาให้ความสำคัญ ใส่ใจและไม่ละเลยต่อข้อปฏิบัติเหล่านี้ การเกิดภาวะแทรกซ้อนและความเสี่ยงต่าง ๆ ก็อาจลดลง รวมทั้งยังอาจส่งผลให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยไม่ได้รับผลกระทบจากการเป็นโรคความดันโลหิตสูงให้น้อยที่สุด…